ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Shusui

ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Shusui

เมื่อ 1 สิงหาคม 2557 เวลา 23:36
เราจะมาทำความรู้จักกับ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Shusui (ซูซุย,ชูซุย) ไปด้วยกันนะครับ
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Shusui ถูกสร้างขึ้นโดยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Asaki กับปลาหนังชนิดหนึ่ง (Doitsugoi)
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Shusui เป็นปลาหนังชนิดแรกๆในบรรดาสายพันธุ์ปลาหนังทั้งหมด
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Shusui จะมีลายเกล็ดสีน้ำเงินเข้มเด่นชัด บริเวณกลางหลัง และจะมีสีบริเวณท้องเหมือนปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Asaki เป็นสีส้มสดหรือสีแดง
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Shusui ที่มีสีแดงหรือส้มทั่วทั้งแผ่นหลัง เราจะเรียกว่า Hi Shusui (ฮิซูซุย,ฮิชูซุย)
เราจะมาทำความรู้จักกับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์​ Shusui ไปด้วยกันครับ รูปภาพและบทความจากหนังสือ Kokugyo, Nishikigoi Manual ครับ
ในทุกๆเกล็ดของปลาตัวในภาพนี้สวยงามเหมือนดังเพชร สีแดงที่วางยาวข้างลำตัวเป็นสีแดงเข้มชัดเจน และลวดลายสีแดงที่หน้าดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ตาสีแดงทั้งสองข้างดูน่ารัก
ปลาตัวนี้ เป็นปลาที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เนื่องจากมีทั้งความทรงพลังและความน่ารักในตัวของมัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พ คือเป็นได้ทั้งสัตว์เลี้ยงและอัญมณีที่มีชีวิต จนเราไม่สามารถหยุดหลงรักพวกมันได้

ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย ตัวในภาพ เป็นปลาที่ได้รับรางวัล Best in Variety จากงานประกวดปลาแฟนซีคาร์พออลเจแปนปี 1999
สมมติว่า ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุยทั้ง 5 ตัวในภาพมีขนาดเดียวกัน และตัดสินความสวยงามจากลวดลายเท่านั้น สามารถเรียงลำดับตามความสวยงามของลวดลายได้ดังนี้ E-D-B-A และ C

ในงานประกวดปลาแฟนซีคาร์พออลเจแปน เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า จะต้องมีปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย ที่สวยกว่าตัวในภาพข้างต้น(A) มากมาย แต่ทำไม ปลาตัวนี้จึงได้รับรางวัล Best In Variety หรือปลาที่ดีที่สุดในสายพันธุ์ ซูซุย

นั่นก็คือ เพราะ ปลาตัวนี้เป็นปลาจัมโบ้ ที่มีขนาดมากกว่า 80 เซ็นติเมตรนั่นเอง การตัดสินเกี่ยวกับปลาแฟนซีคาร์พ เรื่องขนาด คือเรื่องที่สำคัญมากๆประการหนึ่ง
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย มีจุดเริ่มต้นมาจาก ปลาหนังของยุโรป (Doitsugoi) และปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิ ของญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1910
Mr. Kichigoro Akiyama เริ่มเพาะพันธุ์ ปลาหนัง ที่นำเข้ามาจากประเทศ เยอรมัน กับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิ เพื่อให้ได้ลูกปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย หลังจากนั้น ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย ก็ถูกผสมข้ามสายพันธุ์ไปมากับปลาแฟนซีคาร์พอีกหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อ ให้ได้ลูกปลาที่เป็นปลาหนัง หรือ Doitsu ยกตัวอย่างเช่น Doitsu Kohaku, Doitsu Sanshoku, Doitsu Showa, Doitsu Ogon และปลาหนังสายพันธุ์อื่นๆอีกมากมาย

จากปลาหนังสีดำไม่กี่ตัวที่ถูกนำเข้ามาเมื่อกว่า 100 ปีก่อน สามารถพัฒนาสายพันธุ์เป็นปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย และปลาแฟนซีคาร์พหนัง (Doitsu) สายพันธุ์อื่นๆที่สวยงามอีกมากมาย
เราจะมาพิจารณาปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย ตัวนี้กันทีละส่วน

1. ส่วนแรก Odome
การที่มีเกล็ดใหญ่เกิดขึ้นตอนต้นบริเวณไหล่ของปลา และจบที่ส่วนของหาง ทำให้เกิดความสวยงาม จริงๆแล้วเกล็ดสีน้ำเงินเข้มควรจะเรียงตัวอย่างสม่ำเสมอจนถึงโคนหาง

2. ถัดมา การเรียงตัวของเกล็ด
การเรียงตัวของเกล็ดเป็นส่วนสำคัญมากๆสำหรับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย ปลาตัวนี้มีการเรียงตัวของเกล็ดที่สม่ำเสมอ สวยงาม ทั้งสองข้างของครีบหลัง เป็นส่วนที่สำคัญและสวยที่สุดของปลาตัวนี้ แต่ยังไม่ถึงกับสวยแบบอุดมคติ ปลาในรูปถัดไปจะสามารถถือเอาเป็นแบบอย่างในอุดมคติได้เรื่องการเรียงตัวที่สวยงามของเกล็ด

3. ถัดมาคือ Doh Hi (โดห์ ฮิ)
Doh Hi แปลว่า สีแดงบริเวณลำตัว เมื่อปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย ยังมีขนาดเล็กและเริ่มที่จะพัฒนา มักจะไม่มีสีแดงบริเวณหัวหรือลำตัว ส่วนใหญ่มักมีสีแดงเพียงบริเวณท้องเท่านั้นเหมือนปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิ และจะมีการพัฒนามากขึ้นเมื่อเริ่มโตขึ้น ปลาแฟนซีคาร์พเปรียบเสมือนงานศิลปะที่มีชีวิต ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย ที่มีลวดลายสีแดงบนลำตัวก็เปรียบเสมือนงานศิลปะขั้นที่สูงขึ้นไปอีกนั่นเอง

4. ผิวของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย
เมื่อปลายังมีขนาดเล็กหรืออายุยังน้อย จะมีผิวที่เป็นสีฟ้าสวยงามเหมือนปลาในภาพถัดไป เมื่อปลาโตขึ้น สีฟ้าจะค่อยๆจางลง แต่ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ซูซุยที่ยังมีผิวสีฟ้าเข้มกว่าจะเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าสีฟ้าที่อ่อนหรือสีขาวอยู่ดี

5. Mudagoke (มูดะโกห์กิ)
Mudagoke แปลว่าเกล็ดที่ไม่ดี เกล็ดส่วนเกินหรือไร้ประโยชน์ นั่นคือ เกล็ด ที่ทำลายหรือลดทอนความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พตัวนั้นๆนั่นเอง ในการพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พ ประเภท Doitsu เกล็ดที่ไร้ประโยชน์ถือเป็นตำหนิใหญ่ที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่เกล็ดส่วนเกินเหล่านี้ หากมองไม่เห็นได้ จากด้านบน จะไม่นับถือรวมเป็นตำหนิ หรือจุดบกพร่องดังที่กล่าวมา

6. สีแดงบนครีบว่าย
สีแดงบริเวณโคนครีบว่าย หรือที่เรียกว่า โมโตอะกา (Motoaka) ถือเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงความเป็นปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุยและอาซากิ สีแดงที่โคนครีบว่ายที่สวยงามในแบบอุดมคติจะเป็นแบบปลาในภาพถัดไป สำหรับปลาตัวนี้ยังถือว่ามีโมโตอะกาที่ไม่สวยงามนัก

7. ลวดลายสีแดงบริเวณหัวและหน้า
สำหรับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย ตัวนี้มีลวดลายสีแดงบริเวณลำตัวที่ถือว่าค่อนข้างธรรมดา แต่ลวดลายสีแดงบริเวณหน้าที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์​ ซูซุยทั่วๆไปทำให้ปลาตัวนี้ดูโดดเด่นขึ้นมาก ถ้าสีแดงบริเวณลำตัวเปรียบเสมือนเสื้อผ้าที่สวมใส่ อย่าไปใส่ใจกับเสื้อผ้าที่สวยงามมากนัก ให้ความสำคัญกับความน่ารักของรูปร่างหน้าตาบ้าง คุณอาจจะได้เจอกับปลาแฟนซีคาร์พคุณภาพสูงระดับต้นๆก็เป็นได้
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย เมื่อมีขนาดเล็กและเป็นปลาอายุน้อย
ปลาตัวในภาพเป็นปลาอายุน้อย ขนาดประมาณ 35 เซ็นติเมตร เป็นปลาที่มีการเรียงตัวของเกล็ดสวยงามมาก ส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับการพิจารณาปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย คือ การเรียงตัวของเกล็ด ปลาตัวนี้สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการเลือกการเรียงตัวของเกล็ดในอุดมคติได้

ลวดลายสีแดงบนโดนครีบทั้งสองข้าง แก้มทั้งสองข้างและตาทั้งสองข้าง ดูสว่างสวยงาม สามารถใช้เป็นอุดมคติในการเลือกปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุยได้เช่นกัน การพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์อาซากิ และซูซุยจะคล้ายกัน การไม่มีลวดลายสีแดงที่หัวก็เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับเหมือนกัน สรุปง่ายๆว่า หัวขาวใสไม่มีลวดลายดีกว่า แต่ถ้าจะมีลวดลายก็ควรเป็นลวดลายที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์และมีความคมชัดของสีที่ดีนั่นเอง
Hi Shusui (ฮิ ซูซุย)

ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์​ ซูซุยตัวในภาพนี้ มีสีแดงปกคลุมพื้นผิวสีฟ้าทั่วทั้งตัว ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ซูซุยที่มีลักษณะแบบนี้ เรียกว่า ฮิ ซูซุย
ปลาตัวนี้มีความสวยงามจนสามารถได้รับรางวัลในงานประกวดปลาแฟนซีคาร์พออลเจแปนด้วย
ประการแรก ปลาตัวนี้มีหัวที่ใส สะอาด โดยปกติแล้วเมื่อปลาแฟนซีคาร์พโตเต็มวัย บริเวณส่วนหัวมักเป็นผิวสีออกสีเหลือง เนื่องจากมีการสะสมเพิ่มขึ้นของแคโรทีน (Carotene) ในชั้นไขมันที่หนาขึ้นบริเวณหัว ปลาตัวนี้ถือว่ามีผิวบริเวณหัวที่สวยงามมาก
ประการถัดมา ที่ครีบว่ายมี โมโตอะกา สวยงามเท่ากันทั้งสองข้าง
ในเรื่องการเรียงตัวของเกล็ด ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ซูซุย ถือว่าเรียงได้สวยงามเกือบจะเป็นแบบอุดมคติ แม้ว่าจะมีเกล็ดส่วนเกินหรือ Mudagoke หนึ่งเกล็ดบริเวณไหล่ด้านซ้ายของปลา แต่ภาพโดยรวม ถือว่าเกล็ดเรียงตัวได้อย่างมีระเบียบดีมาก
ประการสุดท้าย สีแดงที่แดงสดสะดุดตา ครอบคลุมทั่วทั้งตัว ถือเป็นสีแดงสว่าง ที่ไม่ธรรมดาและสมบูรณ์แบบสำหรับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุย
ปลาแฟนซีคาร์พที่ทรงคุณค่า

การเรียงตัวของเกล็ด ของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ซูซุย เปรียบเทียบได้กับรอยนิ้วมือของเรา นั่นคือ แต่ละคนหรือปลาแต่ละตัวจะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุยตัวในภาพนี้ มีการเรียงตัวของเกล็ดที่สวยงามเป็นระเบียบแบบตามตำราดั้งเดิม ลวดลายจุดสีแดงกลมๆเล็กๆบริเวณหัว (Maruten) ดูสวยงามกลมกลืนไปกับการเรียงตัวของเกล็ดได้อย่างดี
เมื่อท่านได้เจอปลาแฟนซีคาร์พที่มีลักษณะพิเศษแบบนี้ ท่านต้องรีบคว้าเอาไว้ทันที เหมือนกับว่าเรื่องแบบนี้อาจจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ซูซุยโดยทั่วๆไปก็มีลักษณะคล้ายๆกันไปเกือบทั้งหมดเมื่อแรกเห็น แต่เมื่อเราพิจารณาคัดเลือกอย่างละเอียด จะทราบได้ว่าไม่มีตัวไหนที่มีลักษณะเหมือนกันทุกอย่างเลย ดังนั้นสิ่งที่เราควรพิจารณาในการคัดเลือกนั่นก็คือ การมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว และถูกต้องตามตำราดั้งเดิม เป็นไปตามอุดมคติควบคู่กันเท่าที่จะเป็นไปได้
ปลาแฟนซีคาร์พที่มีลักษณะโดดเด่นถูกสร้างโดยธรรมชาติ

ต่อให้เป็นศิลปินอัจฉริยะ ก็ไม่สามารถสร้างปลาแฟนซีคาร์พที่สวยงามแบบเจ้าปลาตัวในภาพนี้ได้ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ซูซุยตัวนี้ เป็นปลาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ถูกสรรค์สร้างโดยธรรมชาติ

ถ้าเราจะเปรียบเทียบปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ซูซุยตัวในภาพนี้กับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์​ ซูซุยในภาพด้านบน (ภาพB) ท่านคิดว่าปลาตัวไหน สวยงามกว่ากัน

ปลาในภาพ B ดูสวยงามตามตำรา เป็นไปตามอุดมคติอย่างมีมาตรฐาน
ปลาตัวในภาพนี้ แสดงให้เห็นถึงการสร้างสรรค์นอกเหนือคำว่ามาตรฐาน

ถ้าท่านเป็นกรรมการ ปลาตัวไหนจะถูกเลือกให้ชนะ?

กรรมการบางท่านจะเลือกโหวตให้กับปลาในภาพ B เนื่องจากความเชื่อมั่นในความสำคัญของคำว่า มาตรฐานในการตัดสินความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พตามตำราแบบดั้งเดิม แต่ผู้เขียนจะเลือกโหวตปลาในภาพนี้แทน
คนที่รักปลาแฟนซีคาร์พทุกคนรวมถึงผู้เพาะพันธุ์ ผู้ค้า และผู้เลี้ยง ทุกคนต่างมองหาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พ ความสวยงามที่ว่านี้พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเราเข้าใจถึงความสวยงามแบบมาตรฐานตามตำราในอุดมคติดีแล้ว เราก็ควรมองหาความสวยงามที่อยู่เหนือคำว่า มาตรฐาน ขึ้นไปอีกเรื่อยๆเช่นกัน
case study ตามวิธีของ koi108

เราจะใช้การพิจารณาแบบแยกส่วนเช่นเดียวกับในบทความ แต่เราจะเพิ่มการให้คะแนนในแต่ละส่วนลงไป เพราะมีการเปรียบเทียบปลาตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปครับ แต่ละส่วนมีคะแนนเต็ม 5 คะแนน คะแนนจะลดทอนไปจากตำหนิที่เจอครับ ตัวที่ดีกว่าจะได้ 5 คะแนน ตัวที่ด้อยกว่าก็จะลดทอนคะแนนไปตามจุดด้อยทีละ 0.5 คะแนน ลองมาพิจารณากันดูครับ ตามความคิดของตัวท่านเอง

เราอาจจะมองปลากันคนละแบบ เราก็จะตัดสินตามความชอบและความรู้สึกของแต่ละคน โดยมีหลักเกณฑ์มาตรฐานเป็นแนวทาง การให้คะแนนแต่ละท่านอาจจะไม่เท่ากันนะครับ แต่อยากให้ลองทำดู เพื่อพิจารณาความสวยงามของปลาและเป็นตัวช่วยในการเลือกซื้อปลาครับ ไม่มีใครผิดถูกแบบที่สุด case นี้ก็เช่นกันครับ การพิจารณาของทีมงาน koi108 อาจจะไม่เหมือนกับใครเลยก็ได้ ยังไงลองมาเริ่มกันเลยนะครับ


1. Odome เกล็ดควรเรียงตัวสวยงามและมีสีน้ำเงินเข้มสม่ำเสมอจนถึงโดนหาง ปลาตัวทางซ้ายเกล็ดสีไม่เข้มสม่ำเสมอ แต่ตัวทางขวาเกล็ดเรียงพอใช้ได้และมีสีเข้มสม่ำเสมอถึงโคนหาง ดังนั้น ปลาตัวทางซ้ายได้ 4.5 คะแนน ตัวขวาได้ 5 คะแนน จากส่วนนี้ครับ

2. การเรียงตัวของเกล็ด เราจะเห็นได้ว่า ปลาตัวทางซ้ายมีการเรียงตัวของเกล็ดที่สม่ำเสมอตั้งแต่ไหล่ยาวจนถึงช่วงหางมากกว่าปลาตัวทางขวา แม้จะมีเกล็ดสีจางช่วงโคนหางก็ตาม ดังนั้นส่วนนี้ ปลาตัวทางซ้ายได้คะแนน 4.5 คะแนน(ตัดส่วนที่เกล็ดจางช่วงโคนหาง) ตัวทางขวาได้ 4 คะแนนครับ

3. ลวดลายสีแดงข้างลำตัว ปลาทั้งสองตัว มีลวดลายสีแดงที่สวยงาม หนาและคมชัดมาก ถือว่าเป็นลวดลายที่มีคุณภาพสูงทั้งสองตัว ในส่วนนี้ จึงได้คะแนนเต็ม 5 คะแนน ทั้งสองตัวครับ

4. ผิวของปลา ปลาทั้งสองตัวมีผิวสีฟ้าสวยงามทั้งคู่ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก แต่ความใสสะอาดของผิวของปลาตัวด้านขวา ทำให้ได้คะแนนมากกว่าตัวทางด้านซ้ายนิดหน่อย ดังนั้น ในส่วนของผิวปลา ปลาตัวทางด้านซ้ายได้คะแนน 4.5 คะแนน ส่วนปลาตัวทางด้านขวา ได้คะแนนเต็ม 5 คะแนนครับ

5. เกล็ดที่ไม่ดี ปลาตัวทางด้านซ้ายมีเกล็ดเกินช่วงไหล่ ส่วนตัวทางด้านขวาก็มีเกล็ดที่ยื่นออกจากแนวทางช่วงท้ายของลำตัวเช่นกัน ทำให้ในส่วนนี้ ปลาทั้งสองตัวได้คะแนนเท่ากัน คือ 4.5 คะแนนครับ

6. สีแดงบนครีบว่าย หรือ โมโตอะกา ปลาตัวทางด้านซ้ายมีสีแดงบนครีบว่ายที่กำลังพัฒนาเป็น โมโตอะกา ที่สวยงามในอนาคต ส่วนปลาตัวทางด้านขวา ไม่มีส่วนที่เป็นสีแดงที่ครีบว่าย ณ ตอนนี้ ทำให้การพิจารณาความสวยงาม ณ ตอนนี้ ตัวทางด้านซ้ายสวยงามกว่าในส่วนนี้ครับ ปลาตัวทางด้านซ้ายจึงได้ 5 คะแนนและปลาตัวทางด้านขวาได้ 4.5 คะแนนครับ

7. ลวดลายสีแดงบริเวณหัวและหน้า ปลาตัวทางด้านซ้ายมีลวดลายสีแดงแบบอุดมคติของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิและซูซุย ส่วนปลาตัวทางด้านขวามีเพียงจุดแดงเล็กๆข้างแก้มที่รอจะพัฒนาขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ณ ตอนนี้ ปลาตัวทางด้านซ้ายจึงมีลวดลายสีแดงบริเวณหัวและหน้าที่สวยงามกว่าได้ 5 คะแนนและ ปลาตัวทางด้านขวา ได้ 4.5 คะแนนครับผม

สรุป คะแนนเต็ม 35 คะแนน
ปลาตัวทางซ้ายได้ 33 คะแนน
ปลาตัวทางขวาได้ 32.5 คะแนนครับ

นี่คือการพิจารณาความสวยงามของปลา ณ ขณะนั้น จะใช้ได้ผลดีกับการคัดเลือกปลาไปประกวด เนื่องจากพิจารณาถึงความพร้อมและสวยงาม ณ เวลานั้นๆครับ แต่การเลือกปลาเพื่อเลี้ยง อาจจะต้องมีหลักการพิจารณาที่ต่างกันออกไป เพราะต้องมองอนาคตของปลาด้วย เหมือนปลาทั้งสองตัวที่ยกตัวอย่างขึ้นมา ในขณะนี้ปลาตัวทางซ้ายดูสวยงามกว่า ครบเครื่องกว่า แต่ในอนาคต ปลาตัวทางขวา อาจจะพัฒนาในเรื่อง โมโตอะกา หรือลวดลายที่หน้าได้ทัดเทียมปลาตัวทางด้านซ้ายหรืออาจจะพัฒนาไปได้สวยงามกว่าก็เป็นได้ครับ ขึ้นกับการดูแลของผู้เป็นเจ้าของด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราก็จะต้องศึกษาและพัฒนาไปเรื่อยๆเช่นกันครับ

สำหรับทีมงาน koi108.com ก็ยังสรุปกันไม่ได้ ว่าตัวไหนสวยกว่า ดีกว่า แต่เห็นเหมือนกันว่า ปลาทั้งสองตัวมีคุณภาพที่ดีจริงๆ ณ ขณะนี้ครับ

ขอให้ทุกท่านเลือกปลาและเลี้ยงปลาอย่างมีความสุขนะครับ
เรื่องราวของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ต่างๆ ยังมีอีกมากมาย อย่าลืมติดตามไปพร้อมๆกับเรานะครับ

รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร โปรโมชั่นต่างๆ บทความใหม่ๆได้ก่อนใคร เพียงท่านกดไลค์แฟนเพจ koi108.com ที่
www.facebook.com/koi108
หรือ ทางไลน์กรุ๊ป ผ่านทาง QR code ในภาพนะครับ
[youtube]http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=Y1f8A8wLrWI[/youtube]