เห็บปลา

เห็บปลา

เมื่อ 22 กรกฎาคม 2557 เวลา 21:42
การเลี้ยงปลาคาร์พให้มีความสุข สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง คือ การรู้จักโรค ปรสิต และการรักษาเบื้องต้น วันนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องเห็บปลากันครับ
แหมรูปมาซะน่ารักเชียวไอ้ตัวแสบ
เห็บปลา ฝรั่งจะเรียกว่า fish louse (ฟิช เลาซ์) หรือ fish lice ถ้าจะเอาแบบเป็นทางการศัพท์วิชาการก็ Argulosis หรือ Argulus Infestation เผื่อใครอยากรู้นะครับ

เป็นเรื่องง่ายที่จะสามารถมองเห็น เห็บปลาและหนอนสมอได้ด้วยตาเปล่า และการเจอพวกมันก็เป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดาไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แทบจะเป็นตัวแทนของปรสิตในการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พก็ว่าได้ เราจะไม่พูดถึงละกันนะครับ ว่าอยู่คลาสไหนในทางชีววิทยา เพราะส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้รู้เรื่องพวกนี้เยอะ คือ คืนอาจารย์ไปตั้งแต่มัธยมแล้วน่ะครับ ส่วนตัวอยากรู้แค่ จะป้องกันกำจัดมันยังไงก็น่าจะพอครับ

เห็บปลามักจะมีขนาด 3-9 มิลลิเมตรแต่ผมว่าตัวเล็กกว่านี้ก็มีนะครับ ตัวของมันจะมีลักษณะ กลม แบนและใส
เห็บปลามักจะโจมตีที่ผิวของปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ โคนครีบโดยการดูดด้วยท่อดูดลักษณะเหมือนเข็มของมัน และในหลายๆครั้งจะพบมันที่ผนังปากของปลาที่มีขนาดใหญ่

เห็บปลาจะใช้วิธีการสอดเข็มบริเวณปากของมันเข้าสู่ตัวเหยื่อ และดูดของเหลวหรือเลือดภายในตัวเหยื่อ ด้วยปากที่มีลักษณะเหมือนงวง

ปลาที่โดนเห็บกัด จะว่ายน้ำอย่างกระวนกระวาย อาจจะกระโดดบ้าง เพราะท่อดูดบริเวณปากของเห็บปลา จะปล่อยสสารที่เป็นพิษที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองออกมาด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอื่นๆตามมาได้อีกด้วย

เห็บปลา มักจะเจริญพันธุ์ได้ดีในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน เห็บปลามักจะถูกนำเข้าสู่บ่อหรือระบบเลี้ยงปลาจากตัวของปลาเอง โดยมักจะพบได้บ่อยเมื่อมีการนำปลาจากบ่ออื่นเข้ามาร่วมเลี้ยง หรือมากับปลาใหม่นั่นเอง
วงจรชีวิต

เห็บตัวเมียเมื่อได้รับการผสมพันธุ์ จะแยกตัวออกจากเหยื่อ(ปลา) และจะวางไข่บริเวณผนังบ่อเลี้ยงปลาหรือที่อื่นๆ โดยจะวางไข่ครั้งละราว 100 - 500 ฟอง เห็บตัวเมียจะสามารถวางไข่ได้ถึงประมาณ 10 ครั้งตลอดช่วงอายุของมัน
ไข่จะฟักตัวภายใน 24 วันที่อุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส และภายใน 15 วันเมื่อมีอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส (บ้านเราไม่ต้องห่วง ฟักเร็วทันใจ ทันใช้แน่นอนครับ) หลังจากนั้นจะเจริญเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น (ขนาด 0.7 - 0.8 มิลลิเมตร) ก็จะเริ่มว่ายน้ำหาเหยื่อ เมื่อเกาะเหยื่อได้มันจะลอกคราบ และใช้เวลาประมาณ 50 วัน ที่อุณหภูมิราว 17 องศาเซลเซียสและประมาณ 20 วัน ที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส จึงจะโตเต็มวัย และพร้อมผสมพันธุ์

เห็บปลา จะสร้างความเสียหายเจ็บป่วยให้กับปลาแฟนซีคาร์พ เนื่องมาจาก มันจะปล่อยสสารที่เป็นพิษออกมาสู่ตัวปลา ทำให้ปลาว่ายกระวนกระวาย ว่ายน้ำไว กระโดดและแฉลบถูบริเวณพื้นหรือผนังของบ่อเลี้ยง เพื่อจะสะบัดเห็บปลาออกไป
อาการเช่นนี้ จะทำให้ผิวหรือเกล็ดของปลาได้รับการบาดเจ็บ และการบาดเจ็บหรือเกิดแผลหรือเกล็ดหลุด จะเป็นช่องทางเข้าของเชื้อโรค ให้เกิดโรคติดเชื้ออื่นๆเข้ามาแทรก เช่น โรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือโรคแผลเปื่อย เป็นต้น
การโดนเห็บปลากัดจึงสามารถทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ บริเวณผิวของตัวปลา และทำให้เกิดเมือกผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาเด็กหรือปลาวัยรุ่น

เมื่อเกิดอาการรุนแรง ปลาแฟนซีคาร์พจะหยุดว่าย แยกตัวออกจากฝูง หลบอยู่ตามมุมบ่อ หรือ ลอยตัวนิ่งๆที่ผิวน้ำ และส่วนใหญ่ปลาจะไม่อยากกินอาหาร
วิธีการรักษา

เราจะสามารถดึงเห็บปลาออกจากตัวปลาได้ อาจจะใช้แหนบดึงออก หรือใช้สารเคมี ชื่อ Masoten (มาโซเต็ง) 0.2 - 0.5 ppm สามารถใช้ได้ดีในการกำจัดปรสิตที่เป็นตัวแล้ว คือทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ไม่สามารถใช้กำจัดไข่ปรสิตได้ จึงต้องใส่สารเคมีนี้ซ้ำ 2 - 3 ครั้งทุกๆ 2 - 3 สัปดาห์

ในประเทศไทยหาสารเคมีที่ชื่อ Masoten ยากมาก ดีมิลีนก็ใช้ได้ดีในการกำจัดปรสิตประเภท เห็บปลา เช่นกัน โดยใช้ในอัตราส่วน 1 กรัม ต่อ ปริมาตรน้ำ 1 ตัน ใส่ให้ครอบคลุมวงจรปรสิต วันที่ 1-4-7 และ 14 แต่เท่าที่อ่านเรื่องวงจรชีวิตของ เห็บปลาข้างต้น ใส่ดีมิลีนแบบที่ว่า อาจจะไม่ครอบคลุมวงจรชีวิตของเห็บปลาพอ อาจจะต้องเปลี่ยนแนวตำรามาเป็นใส่ทุกๆ 7 วันแทนครับ ท่านถนัดอย่างไร เชื่อแบบไหน ลองเลือกพิจารณากันเองนะครับ
ยาอีกชนิดที่ส่วนตัวผมใช้จัดการกับปรสิต คือ พราซี่ หรือ ยากำจัดพยาธิ Praziquantel โดยต้องดูที่ขนาดยานะครับ
พราซี่ สำหรับปลาแฟนซีคาร์พโดยตรง ใช้ 10 กรัม ต่อน้ำ 1 ตัน ใช้ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ช่วยในการทำละลายหน่อยจะละลายได้ดีกว่าการใช้น้ำละลายนะครับ แช่ปลาไว้ 24 ชั่วโมง แล้วถ่ายน้ำออก 20% เติมน้ำเท่าเดิมและใส่ยาอีกครั้งเท่าเดิม แช่ไว้อีก 24 ชั่วโมงแล้วจึงเปลี่ยนน้ำออก ทำให้ครอบคลุมวงจรชีวิตปรสิตนะครับ